การปลูกมอสในสวนน้ำตกธรรมชาติ….

การปลูกมอสในสวนน้ำตกธรรมชาติ….

ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วว่า ถ้าสร้างน้ำตกแนวธรรมชาติขึ้นมา ก็ต้องนำมอส(moss) มาปูหรือแปะไปตามก้อนหิน แล้วหินที่ว่าหลายคนก็คิดว่าต้องเป็นหินฟองน้ำเท่านั้นที่ปูมอสได้ แท้จริงเป็นไปตามนั้นหรือไม่..?

เรื่องนี้ดีหลายอย่าง อย่างน้อยทำให้มอสมีราคา หินฟองน้ำมีคนสนใจ สร้างอาชีพ ก่อรายได้ เศรษฐกิจหมุนเวียน

มอสมีหลายชนิด ผมกล่าวเฉพาะ “มอสดินสีเขียว”เท่านั้น ที่นิยมใช้สำหรับนำมาปูหรือแปะบนก้อนหินหรือแม้แต่งานปูนปั้นก็ปลูกมอสที่ว่านี้ได้ ดังนั้น ไม่ว่าก้อนหินประเภทใดก็สามารถนำมอสนี้มาปลูกไว้ได้

ในกรณีที่นำมอสดินมาใช้ปูบนก้อนหินหรือพื้นผิวคอนกรีต จะงอกงามมากขึ้นถ้าใช้วัสดุปลูกที่เรียกว่า พีทมอส (Peat moss)ซึ่งเป็นซากของมอสและพืชในกลุ่มไบรโอไฟต์ (Bryophyta) ที่ตายและทับถมอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบหนึ่งนานเป็นร้อยเป็นพันปี

พีทมอสนี่ จะมีเฉพาะประเทศที่มีภูมิอากาศอบอุ่นหรือหนาว เขาพบว่ามันมีสภาพเหมาะสมกับการเติบโตของรากพืชมาก เพราะรักษาความชื้นได้ดี มีการย่อยสลายน้อยหรือช้ามาก จึงทำให้มีค่าPH เป็นกลาง ส่งผลให้รากพืชเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะช่วงแรกปลูก เหมาะสำหรับนำมาเพาะกล้าต้นไม้ บ้านเรานำเข้ามาจำหน่ายมานานแล้ว แต่ราคาสูง

สรุปตรงนี้ก่อนเลยว่า ถ้ามีเงินพอซื้อตัวพีทมอสที่ว่านี้มาใช้ปลูกมอสได้เลย ไม่ต้องทำอะไรที่ยุ่งยาก ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ถ้าจะทำวัสดุปลูกมอสเอง ก็พอใช้ได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพวัสดุที่เอามาทำ มีส่วนผสมดังนี้

1.ขุยมะพร้าว ไม่ต้องร่อนละเอียด นำไปแช่น้ำ 24 ชม. คือวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง แล้วบีบคั้นเอาน้ำฝาดออก น้ำฝาดนี้เป็นสมบัติของสารแทนนิน สารนี้มีผลเสียต่อการงอกของรากพืช ใช้ขุยมะพร้าวนี้ 2 ส่วน

2.ปุ๋ยมูลไส้เดือน ถ้าใช้มูลดินไส้เดือนเป็นส่วนผสม ก็ใช้ 1 ส่วน ผสมกับขุยมะพร้าวได้เลย ไม่ต้องใช้ วัสดุในข้อ 3 และข้อ 4 ที่จะกล่าวต่อไป ถ้าไม่ใช้ปุ๋ยมูลดินไส้เดือน ก็มีดินชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ดี คือคราบดินที่อยู่บนพื้นปูนเก่าแล้วมีตะไคร่น้ำเขียวๆ ดำๆ ขึ้นเป็นปื้นอยู่ สังเกตว่า เวลาแห้งๆ ไม่ถูกน้ำ พื้นดินนี้จะแตกเป็นระแหง เวลาถูกน้ำก็เหนียวเป็นแผ่น ถ้ามีก็ขูดเอาดินแบบนี้มาผสมกับขุยมะพร้าวได้เช่นกัน

ถ้าไม่มีดินที่ว่านี้อีก ก็ใช้ดินร่านปนเหนียว คือต้องมีความเหนียวเล็กน้อย ดินพวกนี้ต้องร่อนให้ได้ขนาดเล็กสม่ำเสมอ ปริมาณที่ใช้สำหรับวัสดุในข้อนี้ให้ใช้ 1 ส่วน

  1. แกลบดำ นำมาผสม 1 ส่วน แกลบดำนี่มีสภาพเหมือนถ่าน ว่ากันว่ามันช่วยเป็นตัวกลางควบคุมวัสดุปลูกไม่ให้เป็นกรดหรือด่างจนเกินไป คล้ายๆเป็นตัวบัฟเฟอร์(Buffer solution)
  2. ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องเป็นปุ๋ยอินทรีย์ผ่านกรรมวิธี ตามที่เคยบอกไว้ในตอนก่อนๆ นะครับ เอามาร่อนละเอียดผสมเข้าไปอีก 1/2 ส่วน

นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ขณะคลุกเคล้าให้ผสมน้ำ จนได้ส่วนผสมที่มีความชื้นหมาดๆ

การนำพีทมอสหรือวัสดุที่ทำขึ้นไปวางบนก้อนหินเพื่อปลูกมอสทำได้ 3 วิธี

  1. ถ้าเป็นหินฟองน้ำ วางส่วนผสมนี้เป็นชั้นหนาๆ ราว 2 ซม. กดให้แน่น สะเปรย์น้ำให้ชุ่มชื้น ก่อนเอาแผ่นมอสมาปูทับลงไป
  2. ถ้าเป็นก้อนหินที่มีผิวเกลี้ยงหรือเรียบ ให้ใช้ดินเหนียวหรือดินปลูกบัว มาละลายน้ำแล้วไล้บนก้อนหินในตำแหน่งที่ต้องการปลูกให้ทั่วก่อน แล้วใช้ส่วนผสมนี้วางลงไปอีกครั้ง สะเปรย์น้ำแล้วกดให้แน่นแล้วปูมอสลงไป
  3. บางครั้งต้องปูมอสในแนวตั้ง ให้ทำเหมือนข้อ 2 แล้วนำส่วนผสมนี้ผสมเข้ากับดินเหนียวเพิ่มเข้าไปเล็กน้อย กะว่าส่วนผสมดังกล่าวคงตัวอยู่บนผิวก้อนหินได้ก่อน แล้วค่อยปูมอสตามไป

นอกจากปลูกบนก้อนหินแล้ว ยังปลูกลงดินเพื่อเป็นการคลุมผิวดินได้อีกด้วย โดยการใช้วัสดุที่ผสมไว้นี้หว่านให้หนาประมาณประมาณ 2 ซม. กดให้แน่นอยู่ตัว แล้วนำมอสมาปลูก อย่าให้น้ำขังในพื้นที่ปลูก การปลูกมอสด้วยส่วนผสมนี้ ทำให้มอสเติบโตดี ไม่ต้องสะเปรย์น้ำบ่อย

แต่การมีส่วนผสมที่ดี สะเปรย์น้ำในเวลาเหมาะสม ก็ยังไม่พอกับมอส ยังต้องจัดการเรื่องสภาพแสงแดดด้วย เพราะถ้ามอสถูกแสงแดดโดยตรงนานๆ แม้มีความชื้นจากการสเปรย์น้ำอยู่สม่ำเสมอมอสก็ตายอยู่ดี มอสไม่ชอบความร่มที่มีลักษณะมืด แต่มอสชอบความสว่าง เพียงแต่ไม่ใช่โดนแสงแดดโดยตรง ต้องเป็นแสงที่ผ่านการกรองจากร่มเงาไม้ใหญ่ หรือตาข่ายพรางแสง และชอบความชื้นสูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ

ความจริงการนำมอสมาปลูกในสวนน้ำตก ต้องรอร่มเงาจากไม้ใหญ่ก่อน แต่คนส่วนใหญ่รอไม่ได้ นักจัดสวนก็รอไม่ได้ เลยจัดให้ ถัดไม่กี่วันมอสก็เปลี่ยนจากสีเขียวสดใสเป็นสีเหลือง และแห้งตาย จะรอดอยู่บ้างก็ในส่วนที่ร่มเท่านั้น

Related posts

บ่อปลาคาร์ฟ

เรื่องที่เหมือนจะรู้ในการรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงปลาคาร์ป​…

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Proin tincidunt nunc lorem, nec faucibus mi facilisis eget. Mauris laoreet, nisl id faucibus pellentesque, mi mi tempor enim, sit amet interdum felis nibh a leo.

Read More

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *