สวนน้ำชา เป็นอีกหนึ่งสวนญี่ปุ่นที่สวยงาม ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวนในวัดเซน ในแง่สมาธิและความสงบระงับ แต่สวนน้ำชา เป็นสวนที่ต้องเข้าถึงเรือนน้ำชา จึงต้องมีทางเดิน(โรจิ-ทางเดินที่ชุ่มน้ำค้าง)และศาลาพักคอย จึงมักเรียกสวนชาว่า ชาโรจิ ซึ่งเป็นต้นแบบสวนญี่ปุ่นที่ใช้ทางเดินเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญจึงถึงปัจจุบัน
แต่โบราณ สวนน้ำชามี 2 ส่วน คือส่วนด้านนอกเป็นศาลาพักคอยของแขกที่มารอรับเชิญเข้าเรือนน้ำชา และส่วนด้านในเป็นเรือนน้ำชา ทั้งสองส่วนถูกแบ่งออกด้วยรั้วและประตูเล็กๆ แล้วต่อเชื่อมด้วยทางเดินที่ชุ่มน้ำค้าง เพื่อให้มีความรู้สึกสดชื่น ทางเดินจะใช้ก้อนหินหน้าเรียบวางแยกก้าวพอเดินได้สบาย ไม่นิยมวางเป็นแนวตรง ไม่ใหญ่ไปไม่เล็กไป เพื่อให้ก้าวเดินเข้าไปทีละคน ด้วยความมีสติ รู้ตัว
พืชพรรณและก้อนหินที่รายไปทั้งสองข้างทางเดิน ควรจัดวางให้เป็นธรรมชาติ ใช้วิธีการจัดที่เรียกว่า “ซ่อนและเปิดเผย” อันเป็นวิธีการจัดวางที่ต้องเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ อาจเจอฉากพรางตาหรือเหลี่ยมมุมของก้อนหิน แล้วจึงได้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ นี่เป็นการสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้นตลอดสาย นิยมใช้ต้นไม้สีเขียวที่ดูชอุ่มงามตลอดปี หลีกเลี่ยงการใช้ไม้ดอกหรือองค์ประกอบอื่นใดที่งดงามเกินจำเป็น เพื่อให้จิตใจได้สัมผัสกับความเรียบง่าย สมถะ
ก่อนเข้าเรือนน้ำชาก็จะพบกับอ่างน้ำที่เรียกว่า สึกุไบ ที่รับน้ำมาจากท่อไม้ไผ่ เพื่อใช้น้ำชำระมือและปาก ข้างๆ ยังมีตะเกียงหินให้แสงสว่างอยู่ใกล้ๆบริเวณนี้ และอาจมีก้อนหินประกอบอยู่ก้อนหนึ่งสำหรับให้วางสิ่งของเล็กๆ ก่อนล้างมือ (คนที่เคยไปวัดญี่ปุ่นก็อาจจะเคยพบเห็นว่ามีอ่างน้ำ มีกระบวยให้ล้างมือล้างปากก่อน) เพียงแต่อ่างน้ำในสวนชา จะอยู่ต่ำติดพื้นดิน เพื่อให้ผู้ชำระล้างได้ย่อยอบตัวลง ประหนึ่งการน้อมจิตใจลงสู่ความสงบที่กำลังจะเกิดขึ้นในเรือนชา
ปัจจุบัน สวนน้ำชา ได้นิยมนำมาจัดตามสถานที่ต่างๆ มีการพัฒนารูปแบบไปมากมาย ส่วนใหญ่จะหยิบเอารูปแบบพื้นฐานเข้ามาจัดเพื่อความสวยงามมากกว่ามุ่งเอาความหมายดั้งเดิม
เพียงแต่ว่า ถ้าเราได้เข้าใจความเป็นมาบ้าง การชมสวนน้ำชาก็จะมีรสชาติขึ้น