เรื่องที่เหมือนจะรู้ในการรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงปลาคาร์ป​…

บ่อปลาคาร์ฟ

เรื่องที่เหมือนจะรู้ในการรักษาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงปลาคาร์ป​…

  1. เราเติมออกซิเจนให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลาได้เพียงจำกัดเท่าที่ออกซิเจนจะละลายได้เท่านั้น จะเติมมากกว่านี้ไม่ใด้ ต่อให้เติมเดือดสุดๆยังไงก็เพิ่มไม่ใด้ เพราะออกซิเจนจะละลายน้ำได้ดีต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเข้มข้นของคลอไรด์ในน้ำ และอุณหภูมิของน้ำในบ่อ…​

ถ้าได้จากน้ำประปาที่มีคุณภาพก็มั่นใจในเรื่องปริมาณคลอไรด์ที่ละลายอยู่ว่าไม่เกินมาตรฐานแน่ (ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/ลิตร)การเติมอากาศจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ง่าย แต่ถ้าได้จากน้ำใต้ดิน หรือน้ำจากแม่น้ำลำคลองทั่วไป อาจจะมีปริมาณคลอไรด์สูง ยิ่งสูงมาก ยิ่งทำให้ออกซิเจนละลายได้ยาก​

และถ้าอุณหภูมิน้ำสูงก็ทำให้ออกซิเจนละลายน้ำได้น้อย อยากเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้มาก ก็ต้องลดอุณหภูมิของน้ำลง เหมือนที่เขาขนส่งปลา จะใช้น้ำแข็งช่วยลดอุณหภูมิน้ำให้ต่ำลง ​ เราจะลดอุณหภูมิน้ำในบ่อปลาด้วยน้ำแข็งไม่ได้ ​ ก็ต้องสร้างสภาพร่มเงาให้เกิดขึ้นมากๆ และให้บ่อมีความลึกที่เหมาะสม ​ ​

ค่ามาตรฐานน้ำคุณภาพดีต้องมีออกซิเจนละลายอยู่ 5-8 มก./ลิตร ผู้เลี้ยงปลาควรหาซื้อเครื่องมือวัดค่าออกซิเจนในน้ำไว้​

ข้อนี้บอกให้เราเข้าใจว่า ไม่ต้องใส่อุปกรณ์พ่นอากาศ(jet)มากจนเกินไป​

  1. เราเข้าใจว่าการเติมอากาศจะมุ่งหมายเพื่อเติมออกซิเจนอย่างเดียว ความเป็นจริง ลมที่ออกมาจากระบบ jet จะช่วยรักษาและปรับสภาพน้ำให้สม่ำเสมอทั่วทั้งบ่อ ถ้าน้ำในบ่อนิ่งสงบ อุณหภูมิน้ำจะไม่เท่ากัน น้ำช่วงบนมีอุณภูมิสูงกว่าน้ำช่วงล่าง ​ ลมของการเติมอากาศจะช่วยดันน้ำให้เคลื่อนที่ช้าๆ ในทิศทางเดียวกัน เป็นการช่วยปรับอุณหภูมิให้น้ำสม่ำเสมอ ​ เมื่ออุณหภูมิสม่ำเสมอ ค่าต่างๆภายในน้ำก็จะคงที่ ​

การที่ปลาตาย(เรียกกันว่าปลาช็อคน้ำ) ในเหตุการณ์ฝนตกหนัก ​ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อุณหภูมิน้ำแตกต่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยที่ระบบเติมอากาศไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอได้ ​

ข้อนี้บอกให้เราได้รู้จักวางท่อjet ในความลึกที่เหมาะสม และพ่นน้ำออกไปในทิศทางที่รับกัน เพื่อให้น้ำเคลื่อนตัว แต่ไม่กระเพื่อมตีกันจนน้ำกระจายไร้ทิศทาง​

  1. ถ้าสามารถทำให้อุณหภูมิน้ำและออกซิเจนมีความสม่ำเสมอทั่วทั้งความลึก จะช่วยให้สาหร่ายชนิดดี(สาหร่ายเส้นสั้น)เกิดและเติบโตตามผนังและพื้นบ่อ ช่วยให้น้ำใส และปรับคุณภาพน้ำได้ดียิ่งขึ้น และควบคุมไม่ให้เกิดก๊าซพิษจำพวกไนไตรท์ขึ้นมา​

  1. ส่วนการเติมออกซิเจนในบ่อกรอง จะช่วยให้แบคทีเรียชนิดดีเติบโตแข็งแรง ก็เติมพอประมาณ เพราะอัดลงไปมากอย่างไร ออกซิเจนก็ละลายได้จำกัดตามที่กล่าวมาในข้อ1. ข้อนี้เห็นหลายๆบ่อเติมกันอย่างมากมาย​

  1. ***การใส่เกลือแกงลงในบ่อเลี้ยงปลา จะช่วยรักษาระดับโซเดียมและคลอไรด์ในเลือดปลาเพื่อลดความเครียด เกลือแกงยังช่วยลดก๊าซแอมโมเนียและไนไตรท์ด้วย แต่ควรใช้ในความเข้มข้น 0.5 % คือ ใช้เกลือ 500 กรัม ต่อน้ำในบ่อ 100 ลิตร ด้วยการนำเกลือมาละลายน้ำก่อนเทกลับลงบ่อ และถ้าจำเป็นต้องใส่เกลือซ้ำต้องถ่ายน้ำเกลือเดิมในบ่อออกไปไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของบ่อ เพื่อลดการสะสมของเกลือ เพราะถ้ามีความเข้มข้นของเกลือมากเกินไป ออกซิเจนในบ่อจะลดลงได้

(***วารสารวิจัยเทคโนโลยีการประมง ปีที่10 ฉ.1 มกราคม-มิถุนายน 2559 “ความเข้มข้นของเกลือที่มีผลต่อคุณภาพน้ำและเลือด(โซเดียมและคลอไรด์)ของปลาแฟนซีคาร์ป, นงนุช อัศววงศ์เกษมและ วีณา เคยพุดซา.)​)

Related posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *