การให้แสงในบ่อเลี้ยงปลา ?​

การให้แสงในบ่อเลี้ยงปลา ?​

เรื่อง การใช้หลอดยูวีในบ่อเลี้ยงปลา แม้ว่าจะเป็นเรื่องเก่า แต่มีแง่มุมน่าสนใจ จึงเรียบเรียงเป็นคำถาม คำตอบ ไว้ให้ศึกษากันต่อไป​

ถาม – ถามจริงๆ หลอดยูวีที่ใช้กัน แก้ปัญหาน้ำเขียวได้จริงหรือครับ​

ตอบ – แก้ได้จริงครับ​

ถาม – อาจารย์เคยพูดว่าปัญหาน้ำในบ่อปลาคือน้ำขุ่นกับน้ำเขียว มันยังไงครับ​

ตอบ – น้ำขุ่น ส่วนใหญ่เกิดจากอนุภาคดิน หรือสารอินทรีย์ที่แขวนลอยอยู่ในเนื้อน้ำ สาเหตุเพราะวัสดุกรองไม่สามารถกรองเก็บไว้ได้ บางทีวัสดุกรองเหมาะสม แต่พื้นบ่อไม่ลาดเอียงพอหรือวางระบบท่อน้ำในบ่อไม่เอื้อให้ตะกอนที่พื้นบ่อไหลเข้าสะดือได้หมด มันก็เหลืออยู่ที่พื้นบ่อเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะตามมุมบ่อ พออุณหภูมิน้ำสูงตะกอนพวกนี้ก็ลอยขึ้นมา เป็นสาเหตุให้น้ำขุ่น ปัญหานี้หลอดยูวีช่วยไม่ได้ครับ​

ส่วนน้ำเขียว เกิดจากสาหร่ายชนิดเซลล์เดียว ที่เติบโตแพร่กระจายอยู่ในน้ำ ความจริงเรามองเซลล์สาหร่ายพวกนี้ไม่เห็น ลองตักใส่แก้วแล้วมองก็จะเห็นว่าน้ำใสดี แต่พออยู่ในบ่อซึ่งมีน้ำมีจำนวนมาก ก็ให้ผลทางการมองเป็นสีเขียวได้

ถ้าบ่อกรองใช้วัสดุกรองที่ดี มีปริมาณมากพอ จัดการรอบหมุนเวียนน้ำเหมาะสม เซลล์สาหร่ายก็จะถูกกรองเก็บเอาไว้ได้ในทุกๆรอบหมุนเวียนของน้ำ เมื่อภายในบ่อกรองไม่มีแสงสว่าง เซลล์สาหร่ายพวกนี้ก็จะตายไป ๆ จนน้ำในบ่อหายเขียวไปในที่สุด​

ถาม – อ้าว…ถ้าน้ำใสด้วยวัสดุกรองได้แล้ว อย่างนั้นทำไมยังต้องใช้หลอดยูวีอีกครับ​

ตอบ – ก็อยากให้น้ำใสไวๆ หรือไม่ก็บ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ หรืออาจจำเป็นต้องลดขนาดบ่อกรอง ลดวัสดุกรอง หรือลดรอบหมุนเวียนน้ำ หรือบ่อได้รับแสงแดดนาน ​ หรือปลาที่เลี้ยงมีจำนวนมาก… ด้วยปัญหาหรือข้อจำกัดเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องใช้หลอดยูวีเข้ามาเสริม​

ถาม – อาจารย์ช่วยให้รายละเอียดเรื่องหลอดยูวีสักเล็กน้อยครับ​

ตอบ – แสงยูวี(UV) ก็เป็นคลื่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แสงอัลตร้าไวโอเลต แบ่งตามความถี่ของคลื่นมี 3 ชนิด คือ UVA UVB และ UVC ที่เราใช้ในบ่อเลี้ยงปลา จะเป็นชนิด UVC ซึ่งเป็นแสงคลื่นสั้น มีพลังการทำลายเซลล์สิ่งมีชีวิตมากที่สุด ​

นักจัดสวนส่วนใหญ่ใช้ จะเป็นหลอดในแก้วใส เรียกว่าแก้วควอตซ์ โดยวางจุ่มลงในน้ำ อีกแบบหนึ่งเป็นหลอดที่มีกระบอกหุ้ม แต่ไม่ค่อยนิยมนัก เพราะราคาแพงกว่า แบบนี้วางในน้ำไม่ได้ และต้องมีปั๊มหรือต้องต่อท่อแยกให้น้ำจากบ่อกรองไหลเข้าในกระบอกเพื่อให้น้ำผ่านแสงยูวีก่อนที่น้ำจะไหลกลับเข้าบ่อปลา ที่ว่ายุ่งยากคือต้องกำหนดปริมาณน้ำและความเร็วน้ำที่เหมาะสมกับกำลัง(วัตต์)ของหลอดด้วย จึงจะได้ผลดี​

ถาม – ทราบว่าแสงยูวีจะฆ่าเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งที่เป็นจุลินทรีย์ฝ่ายดีและฝ่ายผู้ร้ายนี่ครับ​

ตอบ – นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเราต้องวางหลอดยูวีไว้ในห้องกรองห้องสุดท้ายคือห้องปั๊มน้ำ จะไม่วางไว้ในห้องใส่วัสดุกรอง หรือไม่วางไว้ในบ่อปลาโดยตรง​

ถาม – เห็นว่ามันอันตรายต่อคนด้วย ​

ตอบ – อันตรายต่อเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกอย่าง อยู่ห่างๆ ได้บ้างอย่านาน ระยะที่แสงยูวีซี หวังผลทำลายจริงๆ ไม่เกิน 3 เซนติเมตรจากไส้หลอด แสงไม่ได้ทำลายจุลินทรีย์หรือเซลล์สาหร่ายคราวเดียวทั่วทั้งบ่อ ต้องใช้เวลาหลายวัน กว่าเซลล์สาหร่ายจะไหลผ่านเข้าใกล้แสง ถ้าจะให้ได้ผลเร็วก็ต้องใช้จำนวนหลายหลอด และมีกำลังวัตต์ที่มากพอด้วย ​

ถาม – แสงจากหลอดยูวีพวกนี้ยังมีประโยชน์อย่างอื่นมั้ยครับ​

ตอบ – มีงานวิจัยว่า แสงยูวียังช่วยกำจัดสารในกลุ่มคลอรามีน เช่น คลอรีนในน้ำได้ด้วยครับ​

ถาม – ขอคำแนะนำในการใช้หลอดยูวีด้วยครับ​

ตอบ – ตามหลักวิชาเลยนะ…และได้ผลดีจริง บ่อที่ไม่เลี้ยงปลา คือสร้างบ่อขึ้นมาเพื่อความสวยงามเฉยๆ อาจปลูกพืชน้ำจำพวก กก บ้างเล็กน้อย ต้องการให้น้ำใส ปริมาณน้ำ 1 ตัน(1,000 ลิตร) ใช้ 1 วัตต์ แต่ต้องให้น้ำหมุนเวียนด้วยนะ อย่าให้น้ำนิ่ง ​

บ่อเลี้ยงปลา ที่มีสภาพร่มเงาดี ปริมาณน้ำ 1 ตัน ใช้ 2 วัตต์ ​

บ่อเลี้ยงปลา ที่ได้รับแสงแดดมาก ปริมาณน้ำ 1 ตัน ใช้ 4 วัตต์ ​ ​

ถาม – หลอดพวกนี้อายุใช้งานนานมั้ยครับ​

ตอบ – หลอดจะลดประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ จะลดมากลดน้อยก็อยู่กับคุณภาพสินค้า ทั่วๆไปมีอายุ 8-10 เดือน วิธีสังเกตว่าควรเปลี่ยนหรือยัง ก็ดูแสงถ้าสว่างน้อยลงหรือเปลี่ยนจากสีเดิม หรือใส่แว่นกันแสงแล้วดู ถ้าแสงมีลักษณะสั่นๆตลอดเวลา ไม่สม่ำเสมอ หรือสังเกตดูคุณภาพน้ำ ถ้าเปิดไว้หลายวันแล้วน้ำก็ยังเขียวก็ถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว ​

และเพื่อไม่ประมาท เวลาใช้ครั้งแรก หรือตรวจเช็คหลอด หรือจะสัมผัสน้ำในบ่อกรอง ควรใช้ไขควงเช็คไฟจุ่มน้ำตรวจกระแสไฟก่อนทุกครั้ง เพราะบางครั้งได้หลอดที่ขั้วไฟไม่ดีน้ำเข้าทำให้ไฟรั่วได้ ​

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *