การระบายน้ำใต้ผิวดิน

การระบายน้ำใต้ผิวดิน

มีบางเรื่องเวลาพูดถึงแล้วยังเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน คือ

คำว่า..ระดับน้ำใต้ดินสูง การระบายน้ำใต้ผิวดิน ​ การระบายน้ำใต้ดิน

เมื่อเข้าไปวิเคราะห์พื้นที่ในงานจัดสวน เรื่องสำคัญประการหนึ่งคือ การหาวิธีระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้ วิธีการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ดีที่สุดคือ การระบายน้ำทางผิวดิน ความหมายง่ายๆ คือ การปรับพื้นที่ให้ลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหลไปยังจุดรับน้ำแล้วระบายออกจากพื้นที่

ที่บอกว่าดีที่สุดเพราะ มีประสิทธิภาพที่สุด ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้หลักการอะไรมาก ค่าใช้จ่ายต่ำหรือแทบไม่ต้องจ่ายเพิ่ม สภาพพื้นที่ก็ดูสวยงามสะอาดตา

น้ำในพื้นที่ ส่วนใหญ่มาจากน้ำฝนหรือเกิดจากการตั้งเวลาระบบการรดน้ำที่มากเกิน น้ำส่วนหนึ่งจะซึมลงพื้นดิน น้ำส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพืช แต่ดินจะรับไว้ได้จำกัดตามสภาพการปรับปรุงดินของนักจัดสวน ถ้าปรับปรุงดินดีดินก็จะอุ้มน้ำไว้มาก ปรับปรุงไม่ดีก็อุ้มน้ำได้น้อย ส่วนน้ำที่เกินจะเอ่อไหลออกไปตามความลาดเอียงที่ปรับระดับไว้…

แต่บางพื้นที่ บางบ้าน ไม่สามารถใช้วิธีระบายน้ำทางผิวดินได้ เพราะถูกปิดล้อมด้วยกำแพง หรือด้วยเหตุอื่นๆ วิธีการที่จะแก้ปัญหามีหลายวิธี แต่ควรเริ่มจากวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดไปตามลำดับ เช่น

ระบายทางผิวดินร่วมกับร่องน้ำ มีทั้งร่องแบบเปิด ร่องแบบปิด หากไม่ชอบเพราะมองเห็นรูปร่องน้ำ ก็ระบายทางผิวดินร่วมกับการทำบ่อพักเป็นระยะๆ ปรับพื้นที่ลาดเอียงลงบ่อพัก แล้วมีท่อเชื่อมฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นกันทั่วไป

ถ้าไม่สามารถทำได้อย่างที่กล่าวมา ก็ต้องใช้วิธีสุดท้าย คือ การวางระบบระบายน้ำใต้ดิน ถ้าให้ถูกต้อง เรียกว่า การระบายน้ำใต้ผิวดิน คือการขุดดินวางท่อระบายลึกลงไปราว 30 ซม. ไม่เกิน50 ซม. ขึ้นอยู่กับประเภทของเนื้อดิน ซึ่งก็มีวิธีการเฉพาะที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง

การระบายน้ำใต้ผิวดิน นี้ละคือประเด็นที่กล่าว เพราะหลายครั้งคนก็เข้าใจว่า นี่เป็นการระบายน้ำใต้ดิน ใช้สำหรับพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง เช่น ในเขตกรุงเทพบางพื้นที่

ความจริง การระบายน้ำใต้ผิวดินนี้ ก็ยังเป็นการระบายน้ำจากผิวดิน โดยที่น้ำจะถูกบังคับให้ซึมลงมารวมกันในท่อที่ฝังไว้ ก่อนจะไหลออกไปในจุดที่ต้องการ เมื่อน้ำที่ไหลซึมลงมาในดินถูกถ่ายเทออกไป น้ำจากบนผิวดินก็จะซึมเข้ามาแทนที่ ลักษณะนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนน้ำบนผิวดินค่อยๆ แห้งไป ส่วนใหญ่ใช้กับพื้นดินที่มีชั้นดินล่างแน่นหรือเป็นชั้นดินเหนียว น้ำซึมลึกไม่ได้

วิธีนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคนวางระบบว่ามีความเข้าใจเรื่องอัตราการซึมของน้ำในดินแต่ละประเภท ความเข้าใจในการวางระบบระบายใต้ดิน เนื่องเพราะวิธีการแบบนี้จะใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้ออกแบบ เพราะมีมากมายหลายที่ ก็ยังเห็นน้ำท่วมขังอยู่หลายชั่วโมง ทั้งที่มีท่อระบายน้ำอยู่ใต้ดิน…

ดังนั้น วิธีระบายด้วยท่อฝังดินที่มีความลึกแค่นี้ จึงไม่ใช่วิธีระบายน้ำใต้ดิน ที่เกิดจากระดับน้ำใต้ดินสูงตามที่เข้าใจ ถ้าจะระบายน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ระดับน้ำใต้ดินสูงจริงๆ ต้องตรวจสอบระดับน้ำใต้ดินก่อนว่า อยู่ในระดับความลึกเท่าใด ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง แล้วประเมินก่อนว่ามีผลต่อการปลูกต้นไม้หรือไม่ ถ้าไม่มีผลก็ไม่ต้องทำ

ถ้าไม่มีข้อมูลระดับความลึกของน้ำใต้ดิน ก็ถือเอาความลึกของรากไม้ใหญ่ที่นำมาปลูกเป็นเกณฑ์ โดยปกติไม้ใหญ่ต้องการความลึกของชั้นดินปลูกอย่างน้อย 0.80 -1 ม. ดังนั้น ท่อระบายน้ำใต้ดิน ต้องวางลึกไม่น้อยกว่า 1 ม. และต้องวางให้แนวท่อใกล้ตำแหน่งปลูกไม้ใหญ่ เมื่อน้ำใต้ดินยกตัวสูงขึ้น น้ำจะไหลเข้าสู่ท่อระบายที่วางดักไว้ แล้วไหลออกไปยังบ่อพัก เพื่อระบายออกหรือสูบออกนอกพื้นที่ เรื่องการระบายน้ำใต้ดิน

ยังมีรายละเอียดอีกพอสมควร นี่ก็เขียนไว้ยาวมากแล้ว จึงยุติไว้แค่นี้ก่อน

Related posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *