ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วว่า ถ้าสร้างน้ำตกแนวธรรมชาติขึ้นมา ก็ต้องนำมอส(moss) มาปูหรือแปะไปตามก้อนหิน แล้วหินที่ว่าหลายคนก็คิดว่าต้องเป็นหินฟองน้ำเท่านั้นที่ปูมอสได้ แท้จริงเป็นไปตามนั้นหรือไม่..?
เรื่องนี้ดีหลายอย่าง อย่างน้อยทำให้มอสมีราคา หินฟองน้ำมีคนสนใจ สร้างอาชีพ ก่อรายได้ เศรษฐกิจหมุนเวียน
มอสมีหลายชนิด ผมกล่าวเฉพาะ “มอสดินสีเขียว”เท่านั้น ที่นิยมใช้สำหรับนำมาปูหรือแปะบนก้อนหินหรือแม้แต่งานปูนปั้นก็ปลูกมอสที่ว่านี้ได้ ดังนั้น ไม่ว่าก้อนหินประเภทใดก็สามารถนำมอสนี้มาปลูกไว้ได้
ในกรณีที่นำมอสดินมาใช้ปูบนก้อนหินหรือพื้นผิวคอนกรีต จะงอกงามมากขึ้นถ้าใช้วัสดุปลูกที่เรียกว่า พีทมอส (Peat moss)ซึ่งเป็นซากของมอสและพืชในกลุ่มไบรโอไฟต์ (Bryophyta) ที่ตายและทับถมอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบหนึ่งนานเป็นร้อยเป็นพันปี
พีทมอสนี่ จะมีเฉพาะประเทศที่มีภูมิอากาศอบอุ่นหรือหนาว เขาพบว่ามันมีสภาพเหมาะสมกับการเติบโตของรากพืชมาก เพราะรักษาความชื้นได้ดี มีการย่อยสลายน้อยหรือช้ามาก จึงทำให้มีค่าPH เป็นกลาง ส่งผลให้รากพืชเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะช่วงแรกปลูก เหมาะสำหรับนำมาเพาะกล้าต้นไม้ บ้านเรานำเข้ามาจำหน่ายมานานแล้ว แต่ราคาสูง
สรุปตรงนี้ก่อนเลยว่า ถ้ามีเงินพอซื้อตัวพีทมอสที่ว่านี้มาใช้ปลูกมอสได้เลย ไม่ต้องทำอะไรที่ยุ่งยาก ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ถ้าจะทำวัสดุปลูกมอสเอง ก็พอใช้ได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพวัสดุที่เอามาทำ มีส่วนผสมดังนี้
1.ขุยมะพร้าว ไม่ต้องร่อนละเอียด นำไปแช่น้ำ 24 ชม. คือวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง แล้วบีบคั้นเอาน้ำฝาดออก น้ำฝาดนี้เป็นสมบัติของสารแทนนิน สารนี้มีผลเสียต่อการงอกของรากพืช ใช้ขุยมะพร้าวนี้ 2 ส่วน
2.ปุ๋ยมูลไส้เดือน ถ้าใช้มูลดินไส้เดือนเป็นส่วนผสม ก็ใช้ 1 ส่วน ผสมกับขุยมะพร้าวได้เลย ไม่ต้องใช้ วัสดุในข้อ 3 และข้อ 4 ที่จะกล่าวต่อไป ถ้าไม่ใช้ปุ๋ยมูลดินไส้เดือน ก็มีดินชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ดี คือคราบดินที่อยู่บนพื้นปูนเก่าแล้วมีตะไคร่น้ำเขียวๆ ดำๆ ขึ้นเป็นปื้นอยู่ สังเกตว่า เวลาแห้งๆ ไม่ถูกน้ำ พื้นดินนี้จะแตกเป็นระแหง เวลาถูกน้ำก็เหนียวเป็นแผ่น ถ้ามีก็ขูดเอาดินแบบนี้มาผสมกับขุยมะพร้าวได้เช่นกัน
ถ้าไม่มีดินที่ว่านี้อีก ก็ใช้ดินร่านปนเหนียว คือต้องมีความเหนียวเล็กน้อย ดินพวกนี้ต้องร่อนให้ได้ขนาดเล็กสม่ำเสมอ ปริมาณที่ใช้สำหรับวัสดุในข้อนี้ให้ใช้ 1 ส่วน
- แกลบดำ นำมาผสม 1 ส่วน แกลบดำนี่มีสภาพเหมือนถ่าน ว่ากันว่ามันช่วยเป็นตัวกลางควบคุมวัสดุปลูกไม่ให้เป็นกรดหรือด่างจนเกินไป คล้ายๆเป็นตัวบัฟเฟอร์(Buffer solution)
- ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องเป็นปุ๋ยอินทรีย์ผ่านกรรมวิธี ตามที่เคยบอกไว้ในตอนก่อนๆ นะครับ เอามาร่อนละเอียดผสมเข้าไปอีก 1/2 ส่วน
นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ขณะคลุกเคล้าให้ผสมน้ำ จนได้ส่วนผสมที่มีความชื้นหมาดๆ
การนำพีทมอสหรือวัสดุที่ทำขึ้นไปวางบนก้อนหินเพื่อปลูกมอสทำได้ 3 วิธี
- ถ้าเป็นหินฟองน้ำ วางส่วนผสมนี้เป็นชั้นหนาๆ ราว 2 ซม. กดให้แน่น สะเปรย์น้ำให้ชุ่มชื้น ก่อนเอาแผ่นมอสมาปูทับลงไป
- ถ้าเป็นก้อนหินที่มีผิวเกลี้ยงหรือเรียบ ให้ใช้ดินเหนียวหรือดินปลูกบัว มาละลายน้ำแล้วไล้บนก้อนหินในตำแหน่งที่ต้องการปลูกให้ทั่วก่อน แล้วใช้ส่วนผสมนี้วางลงไปอีกครั้ง สะเปรย์น้ำแล้วกดให้แน่นแล้วปูมอสลงไป
- บางครั้งต้องปูมอสในแนวตั้ง ให้ทำเหมือนข้อ 2 แล้วนำส่วนผสมนี้ผสมเข้ากับดินเหนียวเพิ่มเข้าไปเล็กน้อย กะว่าส่วนผสมดังกล่าวคงตัวอยู่บนผิวก้อนหินได้ก่อน แล้วค่อยปูมอสตามไป
นอกจากปลูกบนก้อนหินแล้ว ยังปลูกลงดินเพื่อเป็นการคลุมผิวดินได้อีกด้วย โดยการใช้วัสดุที่ผสมไว้นี้หว่านให้หนาประมาณประมาณ 2 ซม. กดให้แน่นอยู่ตัว แล้วนำมอสมาปลูก อย่าให้น้ำขังในพื้นที่ปลูก การปลูกมอสด้วยส่วนผสมนี้ ทำให้มอสเติบโตดี ไม่ต้องสะเปรย์น้ำบ่อย
แต่การมีส่วนผสมที่ดี สะเปรย์น้ำในเวลาเหมาะสม ก็ยังไม่พอกับมอส ยังต้องจัดการเรื่องสภาพแสงแดดด้วย เพราะถ้ามอสถูกแสงแดดโดยตรงนานๆ แม้มีความชื้นจากการสเปรย์น้ำอยู่สม่ำเสมอมอสก็ตายอยู่ดี มอสไม่ชอบความร่มที่มีลักษณะมืด แต่มอสชอบความสว่าง เพียงแต่ไม่ใช่โดนแสงแดดโดยตรง ต้องเป็นแสงที่ผ่านการกรองจากร่มเงาไม้ใหญ่ หรือตาข่ายพรางแสง และชอบความชื้นสูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ
ความจริงการนำมอสมาปลูกในสวนน้ำตก ต้องรอร่มเงาจากไม้ใหญ่ก่อน แต่คนส่วนใหญ่รอไม่ได้ นักจัดสวนก็รอไม่ได้ เลยจัดให้ ถัดไม่กี่วันมอสก็เปลี่ยนจากสีเขียวสดใสเป็นสีเหลือง และแห้งตาย จะรอดอยู่บ้างก็ในส่วนที่ร่มเท่านั้น